ซิกา (Zika) เชื้อไวรัสทั่วไปและการป้องกันจากการติดเชื้อ
เชื้อไวรัสซิกาแพร่กระจายไปยังคนผ่านการกัดจากยุงลายที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ไวรัสซิกายังสามารถติดต่อได้ผ่านทางเพศสัมพันธ์ และจากแม่สู่ลูก
การแพร่ของเชื้อไวรัสซิกา
ไวรัสซิกาเป็นเชื้อไวรัสที่มากับยุงที่กัดในเวลากลางวัน แต่ก็สามารถพบได้ในเวลากลางคืนเช่นกัน ซึ่งยุงที่ติดเชื้อจะเกิดจากการที่ยุงไปกัดคนที่มีเชื้อไวรัสซิกาอยู่แล้ว จากนั้นยุงจะทำการแพร่เชื้อไวรัสต่อสู่คนด้วยการกัด นอกจากนี้เชื้อไวรัสซิกาสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา
- การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์
- การถ่ายเลือด แต่เงื่อนไขนี้ยังไม่ได้รับการยืนยัน
อาการเมื่อติดเชื้อไวรัสซิกา
หลายคนที่มีการติดเชื้อไวรัสซิกาจะไม่มีอาการที่แสดงออก หรือมีอาการเพียงแค่เล็กน้อย โดยอาการส่วนใหญ่ที่พบ ได้แก่ เป็นไข้ มีผื่นขึ้น เจ็บข้อต่อ หรือตาแดง และอาการอื่นๆ ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ และปวดหัว ซึ่งอาการสามารถอยู่ได้หลายวัน หรืออาจจะอยู่เป็นสัปดาห์ คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้มีอาการป่วยมากจนถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล และน้อยมากที่จะมีการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสซิกา รวมถึงมีแนวโน้มว่าผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วจะได้รับการป้องกันจากการติดเชื้อในครั้งถัดไป
อันตรายจากการติดเชื้อไวรัสซิกา
การติดเชื้อไวรัสซิกาขณะตั้งครรภ์สามารถเป็นสาเหตุให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติเกี่ยวกับสมอง เรียกว่า ภาวะศีรษะเล็ก (Microcephaly) นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติที่ดวงตา การได้ยิน และความผิดปกติด้านการเจริญเติบโต รวมถึงยังมีการได้รับรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการค้นพบกลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร (Guillain-Barré syndrome) ที่เป็นความผิดปกติที่ระบบประสาทในบริเวณที่ได้รับการติดเชื้ออีกด้วย
การป้องกันการติดเชื้อไวรัสซิกา
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีสำหรับป้องกันเชื้อไวรัสซิกา โดยการป้องกันติดเชื้อจากยุงที่ดีที่สุดก็ป้องกันตนเองจากการโดนยุงกัด สามารถทำได้ดังนี้
- สวมเสื้อแขนยาว ขายาว
- อยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ รวมถึงปิดประตูและหน้าต่างเพื่อป้องกันยุงจากภายนอก
- ทำการกำจัดยุงในบ้าน และนอกบ้านไปตามขั้นตอน
- ป้องกันเสื้อผ้าและเครื่องใช้จากยุงด้วยยากำจัดแมลง
- ใช้มุ้ง หรือตาข่ายเพื่อป้องกันยุงสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 เดือน
- นอนหลับในมุ้งกันยุงเมื่อต้องนอนกลางแจ้ง ไม่สามารถใช้เครื่องปรับอากาศ หรือไม่มีมุ้งลวด
- หยุดการมีเพศสัมพันธ์ หรือป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัย
ทำอย่างไรเมื่อเป็นไข้ซิกา
ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษาไข้ซิกาโดยเฉพาะ แต่สามารถรักษาอาการได้โดย
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำเพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ
- บริโภคยาลดไข้ และระงับอาการปวด
- ห้ามบริโภคยาแอสไพริน หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
- ถ้าหากมีการบริโภคยาสำหรับการแพทย์อื่นๆอยู่ให้ทำการปรึกษากับแพทย์หรือผู้ดูแลสุขภาพก่อนที่จะบริโภคยา
นอกจากนี้การป้องกันไม่ให้ผู้อื่นติดเชื้อ ให้ทำตามขั้นตอนการป้องกันจากยุงอย่างเคร่งครัดระหว่างสัปดาห์แรกที่มีอาการป่วย