มะเร็งเต้านม เรื่องอันตรายร้ายแรงของผู้หญิง ที่ผู้หญิงควรต้องรู้
ในแต่ละปีมีผู้หญิงมากกว่า 1 ล้านคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านมเสียชีวิตไปมากกว่าครึ่ง ซึ่งโรคมะเร็งเต้านมนับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดของผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็ง
โรคมะเร็งเต้านมคืออะไร
มะเร็งเต้านม เป็นความผิดปกติของเซลล์ในเต้านมที่มีหน้าที่ผลิตน้ำนม หรือท่อส่งน้ำนมไปยังหัวนม ที่ไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตได้
ประเภทของมะเร็งเต้านม
การทราบประเภทของมะเร็งเต้านมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกำหนดวิธีการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยวิธีที่ใช้มากที่สุดในการแบ่งประเภทของเนื้องอกที่เต้านม คือ การแบ่งประเภทตัวรับที่อยู่ที่ผิวเซลล์ (Cell surface receptors) ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen receptor ; ER) ตัวรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone receptor ; PR) และ โปรตีนที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของมะเร็ง (Human Epidermal Growth Factor Receptor 2-negative ; HER2-/neu)
ประเภทของมะเร็งเต้านมที่พบมากที่สุด คือ ตัวรับฮอร์โมนของมะเร็งเต้านมที่เป็นผลบวก (Hormone Receptor-Positive breast cancer) ซึ่งคิดเป็น 75% ของโรคมะเร็งเต้านมทั้งหมด การเจริญเติบโตของมะเร็งชนิดนี้จะตอบสนองต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน กรณีนี้ก็จะใช้การรักษาที่มุ่งยับยั้งการเจริญเติบโตของฮอร์โมน
ประเภทอื่นๆของมะเร็งเต้านม คือ โปรตีน HER2 ที่ให้ผลบวก (HER2-positive breast cancer) เป็นการที่เซลล์มีการผลิตโปรตีนออกมาในจำนวนที่มากเกินไป โดย 20 – 30% ของ Hormone Receptor-Positive breast cancer จะไม่มีการแสดงเนื้องอกออกมา
มะเร็งเต้านมแบบไตรโลปะ (Triple negative breast cancer ; TNBC) เป็นประเภทของมะเร็งเต้านมที่พบได้ยาก ซึ่งเป็นประเภทที่ย่อยออกมาจากโรคมะเร็งเต้านมชนิด HER2/neu (HER2-negative disease) หมายถึงเซลล์เนื้องอกที่ขาดตัวรับเอสโตรเจน โปรเจนเตอโรน และไม่พบโปรตีน HER2 มะเร็งประเภทนี้สามารถพบได้ 15% ของโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งมักจะมีความรุนแรงและรักษาได้ยากกว่า เพราะไม่มีการตอบสนองต่อการรักษาแบบมาตรฐาน ความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำการรักษาให้เร็วที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค
- อายุ มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป
- ครอบครัว ผู้หญิงที่มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งเต้านม จะมีโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น
- ประวัติทางการแพทย์ ผู้หญิงที่เคยตรวจพบมะเร็งเต้านมแบบไม่ร้ายแรง (Benign breast cancer) มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเป็นมะเร็งเต้านมได้อีกในอนาคต
- ตั้งครรภ์ครั้งแรกช้า ผู้หญิงที่มีการตั้งครรภ์ครั้งแรกหลังอายุ 35 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากกว่า
- ร่างกายได้รับฮอร์โมนมากเกินไป โดยจะมีความเสี่ยงในผู้หญิงที่มีระยะการมีประจำเดือนในช่วงชีวิตที่นาน หรือมีการใช้ฮอร์โมนทดแทนในช่วงวัยหมดประจำเดือน
- กิจวัตรประจำวัน เช่น ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน อยู่ในเกณฑ์อ้วนหรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือน ไม่มีการออกกำลังกาย บริโภคอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงการบริโภคแอลกอฮอล์ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาสู่โรคมะเร็งเต้านม
อาการ และการวินิจฉัยโรค
ในระยะแรกของโรคมะเร็งเต้านม จะยังไม่สามารถตรวจพบอาการได้ ซึ่งสัญญาณเตือนของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ได้แก่
- พบก้อนแข็งบริเวณเต้านม หรือรักแร้ มักจะไม่มีอาการเจ็บ และจะเกิดขึ้นที่ข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น
- เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง หรือขนาดของเต้านม ได้แก่ การเว้าแหว่งของเต้านม เกิดเส้นเลือดบนเต้านม หรือผิวหนังลอก
- ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลง เช่น แข็ง เป็นรอยบุ๋ม เกิดตุ่ม แดงและร้อน หรือผิวมีลักษณะคล้ายเปลือกส้ม
- มีความเปลี่ยนแปลงของหัวนม เช่น หัวนมหดตัว มีการหลั่งของเหลวอย่างผิดปกติ หรือเกิดผื่นรอบบริเวณหัวนม
ระยะการเกิดมะเร็งเต้านม
ในการแบ่งระยะของโรคมะเร็งจะแบ่งตามขนาดของเนื้องอก และการแพร่กระจายของมะเร็ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ระบุวิธีการรักษาได้อย่างเฉพาะเจาะจง และมีประสิทธิภาพที่สุด
- ระยะที่ 1 – เนื้องอกจะยังมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และยังไม่แพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 2 – เนื้องอกมีขนาดประมาณ 5 เซนติเมตร และอาจมีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองใต้แขน
- ระยะที่ 3 – เนื้องอกอาจมีการแพร่สู่ต่อมน้ำเหลืองเป็นกลุ่มก้อน หรือติดกับบริเวณใกล้เคียงอื่นๆ ซึ่งอาจแพร่เข้าสู่เนื้อเยื่อเต้านมโดยรอบ
- ระยะที่ 4 – เนื้องอกมีการแพร่สู่อวัยวะอื่นๆในร่างกาย เช่น ปอด ตับ หรือกระดูก ซึ่งอาจเรียกว่า การลุกลามของมะเร็ง
นอกจากนี้ มะเร็งเต้านมยังสามารถแบ่งได้อีก 3 ระยะใหญ่ๆ ได้แก่
- ระยะแรก (Early stage) จะเกิดที่เนื้อเยื่อไขมันของเต้านม
- ระยะลุกลามเฉพาะที่ (Locally advanced) มีการแพร่ไปยังเนื้อเยื่อใต้ผนังหน้าอก
- ระยะลุกลาม (Advanced / Metastatic) เนื้องอกมีการแพร่ไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย โดยประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม จะตรวจพบได้เมื่อมีการแพร่กระจายไปมากกว่าบริเวณของเนื้องอกเริ่มต้น
สถิติการเกิดโรค และการเสียชีวิต
สถิติทั่วโลก มีการตรวจพบผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมมากกว่า 1 ล้านคนในทุกๆปี ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดของกลุ่มโรคมะเร็งในเพศหญิง และเป็นโรคที่นำมาสู่การเสียชีวิตมากกว่า 500,000 คนต่อปี
สถิติในยุโรป พบว่าผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม 400,000 คนต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิต 120,000 คน โรคมะเร็งเต้านมพบได้บ่อยสุดในยุโรป โดยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้หญิงชาวยุโรปถึง 17%
สถิติในอเมริกาเหนือ ในทุกๆปีจะตรวจพบผู้หญิง 200,000 คนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งปอด
การคาดคะเน
จากสถิติของโรคมะเร็งเต้านมพบว่า ผู้ป่วยมักสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยเฉลี่ยที่ 5 ปี ซึ่งผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรก มีโอกาสมีชีวิตอยู่ได้ 5 ปี ถึง 81% อย่างไรก็ตามโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิง 35% ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลามก็ยังสามารถมีอยู่ชีวิตอยู่ได้ถึง 5 ปี
การรักษา
การรักษาโรคมะเร็งเต้านมนั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยวัดที่ขนาด ตำแหน่ง การแพร่กระจายของโรค และสุขภาพทางกายของผู้ป่วย ประเภทของการรักษาแบ่งออกเป็น การผ่าตัด รังสีบำบัด เคมีบำบัด การบำบัดด้วยฮอร์โมน และการรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจจะเป็นการรักษาแบบวิธีเดียว หรือรักษาหลายวิธีไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับระยะการเกิดโรค
การผ่าตัด (Surgery)
การรักษาด้วยการผ่าตัดจะใช้รักษากับผู้ป่วยที่ไม่มีการแพร่กระจายเซลล์มะเร็งไปยังส่วนอื่นของร่างกายเป็นหลัก และยังเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยในระยะลุกลามได้อีกด้วย โดยประเภทของการผ่าตัดจะแตกต่างกันออกไปตามปริมาณของเนื้องอก ลักษณะของเนื้องอก การแพร่กระจาย และความรู้สึกของผู้ป่วย
- การผ่าตัดแบบเก็บรักษาเต้านม (Breast conserving therapy / Lumpectomy) เป็นการนำบริเวณที่เป็นมะเร็ง และเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆออก ในบางกรณีอาจมีการนำต่อมน้ำเหลืองออกมาด้วย ซึ่งจะให้ผลการรักษาเหมือนกันการผ่าตัดเต้านมแบบปกติ
- การผ่าตัดแบบสงวนเต้า (Partial Mastectomy / Quadrantectomy) ใช้ในการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อที่มีขนาดใหญ่ออก (เมื่อเทียบขนาดกับการผ่าตัดแบบเก็บรักษาเต้านม)
- การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด (Total Mastectomy) เป็นวิธีการที่สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านมอีก โดยจะทำการนำเต้านมออกทั้งหมด แต่ไม่มีการนำต่อมน้ำเหลืองออก
รังสีบำบัด (Radiotherapy)
วิธีนี้มักจะเป็นการรักษาเพิ่มเติมจากการผ่าตัด และเคมีบำบัดเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งอีกครั้ง ซึ่งสามารถทำได้หลังการผ่าตัด หรือทำร่วมกับเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดเพื่อให้เนื้องอกหดตัวลง นอกจากนี้การรักษาด้วยรังสีบำบัดยังสามารถช่วยบรรเทาอาการให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามที่ไม่ได้รับการผ่าตัดได้
เคมีบำบัด (Chemotherapy)
อาจมีการรักษาด้วยเคมีบำบัดก่อนที่จะทำการผ่าตัด เพื่อลดขนาดของเนื้องอกให้สามารถผ่าตัดได้อย่างครอบคลุม หรืออาจทำหลังการผ่าตัดเพื่อลดโอกาสการกลับมาของโรคมะเร็ง และเมื่อเซลล์มะเร็งได้แพร่เข้าสู่ส่วนต่างๆของร่างกาย การทำเคมีบำบัดอาจใช้ได้ในการช่วยลดอาการ ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยยืดระยะเวลาในการมีชีวิตรอด โดยการรักษาสามารถทำได้โดยการฉีดยาเข้าสู่เส้นเลือดดำ หรือการบริโภคเป็นยาเม็ด ซึ่งการรักษาด้วยเคมีบำบัดอาจมีผลข้างเคียงตามมา เช่น เมื่อยล้า เวียนหัว คลื่นไส้ หรือท้องร่วง
การรักษาด้วยฮอร์โมน (Hormonal therapy)
ตัวยาจะทำการกั้น หรือยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งวิธีนี้มักจะใช้ในการช่วยรักษาผู้ป่วยที่เกิดจากตัวรับฮอร์โมนของมะเร็งเต้านมที่เป็นผลบวก (Hormone Receptor-Positive breast cancer)
การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy)
หรือเรียกว่า ชีวบำบัด (Biological therapies) เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่ที่จะรักษาแบบเฉพาะจุดที่มีการเจริญเติบโตของเนื้องอกสามารถทำได้โดย การใช้โมโนโคลนอล แอนติบอดี (Monoclonal antibody) การฉีดวัคซีน และยีนบำบัด (Gene therapies) การรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยให้รักษาได้ตรงเป้าหมายของมะเร็ง ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ โดยการรักษาจะทำหลังการทำเคมีบำบัด หรือทำร่วมกับการรักษาอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง