ไขข้อสงสัย และปัญหาการปวดหลังด้วยคำตอบที่เข้าใจง่าย
อะไรคือสาเหตุของการปวดหลังกันแน่?
“โอ้ยยย ปวดหลัง!” เราคงเคยผ่านความทรมานและพูดประโยคนี้กันมาแล้ว แต่มันยากที่จะหาสาเหตุจริงๆของการปวดหลัง เพราะมีหลายปัจจัยที่เป็นไปได้ ทั้งเรื่องของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ กระดูกอ่อน แผ่นรองกระดูก และเส้นประสาท หรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การออกกำลังกาย ยกของ เล่นกีฬา และอื่นๆอีกมากมาย ที่อาจจะไปทำให้เกิดการตึงหรือเคล็ด และบางครั้งการฉีกขาดเล็กๆของแผ่นรองกระดูกสันหลังชั้นนอก ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดแบบรุนแรงได้ ซึ่งในร่างกายจะมีสารเคมีจำนวนมากที่ถูกปล่อยออกมาเพื่อตอบสนองการบาดเจ็บ โดยสารนั้นจะเป็นตัวกระตุ้นรอบๆบริเวณที่ปวดทำให้เรารู้สึกถึงความเจ็บ มากไปกว่านั้นคือสารบางตัวยังเป็นตัวกระตุ้นแผลอักเสบหรือการบวมที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด
จะปวดหลังไปอีกนานแค่ไหน
โชคร้ายที่เราคาดการณ์ระยะเวลาปวดและระดับความปวดไม่ได้ แต่ข่าวดีก็คือ แม้ว่าเราจะหาสาเหตุจริงๆของการปวดหลังไม่ได้ แต่การปวดหลังแบบฉับพลัน (Aacute pain) จะเบาลงในช่วง 1 เดือนหรือน้อยกว่านั้นหลังจากได้รับการเยียวยา โดยปกติเกือบ 80% ของคนที่ปวดหลังส่วนล่างจะหายจากอาการปวดหลังภายใน 6 สัปดาห์
การปวดหลังเรื้อรัง (Chronic pain) คือการปวดมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว อาจเกี่ยวข้องกับสภาพกระดูกสันหลังหรือปัจจัยอื่น เช่น กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง น้ำหนักร่างกาย และความเครียด
การปวดชนิดเฉียบพลันที่กลับมาเป็นซ้ำ (Recurrent acute pain) คือการเจ็บปวดแบบไม่สม่ำเสมอแต่จะเป็นๆหายๆเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ
อะไรคือยาบรรเทาที่ดีที่สุดสำหรับอาการปวดหลัง
เมื่อรู้สึกปวดหลังคนส่วนใหญ่จะพึ่งยาพารา (Acetaminophen) ยาลดอาการอักเสบ (์Onsteroidal anti-inflammatory drugs) หรือยาแก้ปวด (Analgesic pain) ที่ช่วยลดการบวมและปวดหลัง โดยยาเหล่านั้นจะช่วยให้ระบบประสาทสงบลง ทำให้หลับสบายขึ้น และลดความรู้สึกเจ็บปวดหรือการตึงของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยานอนหลับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยบรรเทาอาการปวดแบบฉับพลันได้อย่างดี เพราะเป็นยาระงับประสาทเหมือนกับยาแก้ปวด
ควรจะนอนราบและพักไหมถ้ารู้สึกปวดหลัง?
ที่จริงข้อแนะนำที่ดีที่สุดในการรักษาอาการปวดหลังแบบฉับพลันคือการออกจากเตียงและทำทุกอย่างให้เป็นปกติ แม้ว่าจะรู้สึกต่อต้านหรืออยากจะนอนลงบนโซฟาแล้วเลี่ยงกิจกรรมทุกอย่าง แต่การทำตัวปกติเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำให้เลือดและสารอาหารไหลเวียนไปยังที่ๆเจ็บหรือเป็นแผลเพื่อลดความตึงของกล้ามเนื้อ
หลายคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับการปวดหลังพบว่าเขาสามารถทำทุกอย่างได้เป็นปกติ แต่ให้เพิ่มกิจกรรมที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น การเดิน แม้ว่าจะเจ็บแต่ก็จะรู้สึกดีขึ้นในภายหลัง และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมากอย่างการยกน้ำหนัก หรือกีฬาที่ต้องแข่งขันที่อาจไม่เหมาะสำหรับคนที่ปวดหลังมากๆ
ควรจะประคบหลังด้วยความเย็นหรือความร้อนไหม?
นี่เป็นหนึ่งในคำถามที่คนถามกันมากที่สุดเกี่ยวกับการรักษาอาการปวดหลัง ทั้งความเย็นและความร้อนที่ช่วยบรรเทาความปวดได้ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรทำ
- น้ำแข็งช่วยลดแผลอักเสบหรือการบวมได้ด้วยการลดการไหลของเลือด การวางถุงน้ำแข็งลงบนบริเวณที่เพิ่งเริ่มปวด (ไม่เกิน 48 ชั่วโมง) สามารถช่วยลดอาการปวดได้ โดยให้วางไว้ 20 นาที ทุกๆ 2 ชั่วโมง
- ความร้อนจะช่วยในการบรรเทาการปวดของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะหลังการปวด 48 ชั่วโมงไปแล้ว และไม่ว่าจะเป็นความร้อนแบบแห้งหรือการแช่น้ำร้อนก็สามารถช่วยได้เหมือนกัน
แต่จำไว้ว่าความเย็นและความร้อนไม่ได้ช่วยในการรักษาระยะยาว
น้ำหนักตัวเกี่ยวข้องกับการปวดหลังไหม?
น้ำหนักตัวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปวดหลัง ดังนั้นให้พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี โดยเฉพาะที่หน้าท้องเพราะทำให้แรงโน้มถ่วงโน้มไปข้างหน้ามากกว่า แต่คนที่ผอมก็มีโอกาสปวดหลังได้เหมือนกัน เพราะการที่ผอมมากๆหรือมีมวลกระดูกต่ำ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งข้อแนะนำที่ดีที่สุดคือทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่พอดี
กีฬาประเภทไหนช่วยบรรเทาและป้องกันการปวดหลัง?
การออกกำลังกายคืออีกหนึ่งการรักษาที่แพทย์แนะนำในการลดอาการปวดหลัง ด้วยการเสริมสร้างความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และการเต้นแอโรบิกเป็นประจำหรือ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและลดโอกาสการปวดหลังในอนาคตได้ โดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการออกกำลังกายอย่างถูกต้องเพื่อบรรเทาอาการปวดและป้องกันอาการปวดที่ตามมาในภายหลังดังนี้
- ออกกำลังกายเบาๆ
- เริ่มด้วยการออกกำลังกาย 5 เซต เซตละ 10 ครั้ง
- อย่าลืมยืดกล้ามเนื้อทุกครั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย
ท่านอนและเบาะนอนสำคัญต่ออาการปวดหลังไหม?
หลายคนไม่คิดว่าการนอนหงายจะทำให้เกิดแรงกดที่กระดูกสันหลังได้ถึง 25 กิโลกรัม และการวางหมอน 2 ใบใต้เข่าหรือวางหมอนระหว่างเข่าจะสามารถช่วยลดแรงกดดันของหลังได้
ปัจจุบันมีเบาะนอนให้เลือกมากมายแต่ไม่มีใครบอกได้ว่าคนไหนเหมาะกับเบาะแบบไหน ให้คุณเลือกโดยการลองนอนก่อนจะซื้อจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อให้มั่นใจด้วยว่านอนบนเบาะได้สบายและจะไม่ทำให้ปวดหลัง
ท่ายืนหรือท่านั่งที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงการปวดหลังคือท่าไหน?
ตอนเด็กๆพ่อแม่หรือครูจะสอนว่าให้ยืนหลังตรง ซึ่งการยืนหรือนั่งในท่าที่เหมาะสมจะช่วยลดการปวดหลังและคอได้จริง เพราะการยืนหรือนั่งด้วยท่าที่ไม่เหมาะสมนานๆสามารถทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังตึงหรือเคล็ดได้ และยิ่งผ่านไปนานๆ การตึงของกล้ามเนื้ออาจทำให้เส้นเลือดและระบบประสาทตีบ เช่นเดียวกับปัญหากล้ามเนื้อ แผ่นรองกระดูก และข้อต่อที่เป็นสาเหตุหลักของการปวดหลัง
ทำตามข้อแนะนำนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงการปวดหลังได้
- การยืน – ยืนให้เท้าไปข้างหน้า และเข่าเอียงไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อไม่ให้แรงกดไปรวมกันที่หลัง
- การนั่ง – นั่งโดยให้สะโพกสูงกว่าเข่าเล็กน้อย เพื่อลดความตึงส่วนล่าง
- การเอื้อม – ยืนบนเก้าอี้เมื่อต้องเอื้อมหยิบของที่อยู่สูงเกินกว่าระดับไหล่
การยกหรือย้ายของอย่างไรให้ถูกวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดหลัง?
การยกหรือก้มเป็นสาเหตุหลักของอาการปวดหลัง และเพื่อลดความตึงหรือความเจ็บของกระดูกสันหลันส่วนล่าง ให้ลองยกของหรือก้มให้ถูกท่า ตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ใช้ขา – งอเข่าขณะยกของหรือก้ม ให้ขาจะช่วยกระจายน้ำหนักไปทุกส่วนเท่าๆกัน ยื่นหน้าอกออกมาข้างหน้าและสะโพกแอ่นไปข้างหลัง ท่านี้จะช่วยให้หลังส่วนล่างอยู่ตรงกลาง
- ให้น้ำหนักใกล้ตัวมากที่สุด – เมื่อยกหรือก้มหยิบของหนักควรถือมาให้ใกล้ตัวที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ความสมดุล – เมื่อต้องถือสิ่งของ 2 ชิ้น ให้ถือข้างละ 1 ชิ้น เพื่อสร้างความสมดุลและไม่ทำให้หลังข้างใดข้างหนึ่งทำงานหนักเกินไป
- ผลักแทนดึง – ใช้มือและขาเพื่อเพื่อผลักของบนพื้นช่วยลดการออกแรงของหลังมากกว่าการดึงมาก แต่ถ้าต้องเลื่อนของที่หนักมากๆให้หาคนช่วย อย่าทำด้วยตัวคนเดียว
ผ่าตัดดีมั้ยถ้าปวดหลังเรื้อรัง?
ไม่มีคำตอบสำหรับคำถามนี้ เพราะการรักษาอาการปวดหลังขึ้นอยู่กับลักษณะและที่มาของการปวด ถ้าหากพบว่าการปวดหลังเกิดจากอะไร ก็อาจจะรักษาให้หายได้ โดยจุดประสงค์ของการรักษาคือลดอาการเจ็บ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
มีวิธีการรักษาหลายประเภทสำหรับอาการปวดหลังเรื้อรัง เช่น กายภาพบำบัด การใช้ยา และการรักษาแพทย์ทางเลือกขึ้นอยู่กับอาการ แต่จากการสำรวจพบว่ามีเพียง 1% ของคนที่มีอาการปวดหลังที่จำเป็นต้องรับผ่าตัด